วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

ย้ายงานโดยไม่สุจริตลูกจ้างมีสิทธิโต้แย้งได้


คำพิพากษาฎีกาที่ 6687/2557
คดีนี้โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการโรงเลื่อยของจำเลยที่ 1 สาขาสะเดา จังหวัดสงขลา ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละ 67,392 บาท ค่าพาหนะอีกเดือนละ 8,000 บาท รวมเป็นเงิน 75,392 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเลื่อยของจำเลยที่ 1 สาขาสุราษฎร์ธานี โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม แต่จำเลยที่ 1 ยืนยันคำสั่งเดิมโดยกำหนดให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สาขาสุราษฎร์ธานีตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นไปโจทก์มิได้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สาขาสุราษฎร์ธานีตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวเป็นการบีบบังคับโจทก์ให้ลาออกเพื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายเงินเกษียณอายุ และไม่ต้องจ่ายค่าจ้างที่สูงเกินไปของโจทก์ ซึ่งไม่คุ้มกับกำลังการผลิตของจำเลยที่ 1 ที่ตกต่ำลง การย้ายงานดังกล่าวไม่ก่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 มากนักเพราะช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์เป็นฤดูฝนและโจทก์คงเหลือระยะเวลาการทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกเพียง 2 เดือนเศษ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการเกษียณอายุและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเกษียณอายุให้โจทก์ทราบ ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและจงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า การที่โจทก์ไม่ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการโรงเลื่อยสาขาสุราษฎร์ธานีตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 จนถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เป็นการละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและจงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายหรือไม่ (ศาลฎีกาเห็นว่า) แม้สิทธิในการย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างสามารถกระทำได้ตามความเหมาะสมเพราะเป็นอำนาจในการบริหารจัดการภายในองค์กรของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การพิจารณาว่าคำสั่งย้ายงานดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียงใดคงต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำสั่งย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นกรณีไป
เมื่อมูลเหตุในการออกคำสั่งได้ความจากศาลแรงงานภาค 9 ว่าโจทก์ไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สาขาสุราษฎร์ธานีตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นคำสั่งที่บีบบังคับให้โจทก์ลาออกเพื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายเงินเกษียณอายุ และไม่ต้องจ่ายค่าจ้างที่สูงเกินไปของโจทก์ซึ่งไม่คุ้มค่ากับกำลังการผลิตของจำเลยที่ 1 ที่ตกต่ำลง และการย้ายงานดังกล่าวไม่ก่อประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะโจทก์คงเหลือระยะเวลาทำงานอีกเพียง 2 เดือนเศษ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอย่างมากเพราะมีภาระต้องเลี้ยงดูคนในครอบครัวนั้น คำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว นอกจากจะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์อย่างยิ่งแล้วยังมีมูลเหตุการออกคำสั่งโดยไม่สุจริตแก่ลูกจ้าง จึงมีลักษณะเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม ฉะนั้น การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตามที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
โดยสรุป คดีนี้นายจ้างแพ้ ความจริงเอากันตรงไปตรงมา อีกไม่กี่วันลูกจ้างก็เกษียณจะได้รับเงินค่าชดเชยตามสิทธิแค่เพียง 603,136 บาท เท่านั้น แต่งานนี้นายจ้างพี่เขาหัวหมอ ก็เลยเจอศาลให้จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 103,033 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 452,352 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 555,385 บาทให้กับลูกจ้างเพิ่มเติม ความจริงปล่อยให้ลูกจ้างเขาเกษียณรับค่าชดเชยตามกฎหมายไปตามปกติก็ดีแล้ว เสียค่าหัวหมอไปอีกครึ่งล้าน 5555
ติดตามข่าวสารได้ที่
www.lawyer1.net

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ27 มกราคม 2565 เวลา 07:08

    Kadang Pintar: Online Casino | Kadang Pintar
    Kadang Pintar: Online Casino | Kadang Pintar: 온카지노 Online Casino | 인카지노 Kadang Pintar: Online Casino | Kadang Pintar: Online Casino | Kadang Pintar: Online Casino | Kadang 제왕카지노 Pintar:

    ตอบลบ