วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การจัดเวลาพักให้ลูกจ้าง

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 27 บัญญัติไว้โดยสรุปว่า ให้นายจ้างจัดเวลาพักในระหว่างเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง หลังจากที่ลูกจ้างทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมง  ส่วนการพักนั้นจะตกลงกับลูกจ้างไว้ล่วงหน้าว่าจะพักกันเป็นช่วงๆ ละกี่นาทีก็ได้แต่เมื่อรวมแต่ละช่วงที่พักแล้วต้องได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
คำถาม : นายจ้างจัดเวลาพักเป็นช่วงๆ โดยไม่ตกลงกับลูกจ้างได้ไหม ? 
คำตอบคือ : ไม่ได้ เพราะกฎหมายบังคับว่าต้องตกลงกัน 
คำถาม : การตกลงต้องทำอย่างไร ? 
คำตอบคือ : ตกลงกันด้วยวาจาก็ได้ แต่ควรทำเป็นหนังสือ หรือระบุไว้ในสัญญาจ้าง จะได้มีหลักฐาน
คำถาม : นายจ้างจัดเวลาพักเป็นช่วงๆ โดยไม่ตกลงกับลูกจ้างได้ไหม ? 
คำตอบคือ : ไม่ได้ เพราะกฎหมายบังคับว่าต้องตกลงกัน 
คำถาม : ถ้าไม่ตกลงกับลูกจ้างต้องทำอย่างไร ? 
คำตอบคือ : ต้องจัดเวลาพักต่อเนื่อง 1 ชั่วโมงตามกฎหมายก็หมดปัญหา 
คำถาม :  ที่บริษัทให้พักเที่ยง 30 นาที แล้วอีก 30 นาทีให้ไปพักตอนห้าโมงเย็นแล้วกลับบ้านเลยได้ไหม? 
คำตอบคือ : อาจจะได้ถ้าเวลาทำงานปกติกำหนดจาก 08.00-17.30 น. และมีข้อตกลงกับลูกจ้างชัดเจน 
คำถาม : ทำไมเจ้าหน้าที่แรงงานบอกว่าจัดเวลาพักผิด ? 
คำตอบคือ : ก็คุณพักในเวลาทำงานแค่ 30 นาที และอีก 30 นาทีไปพักหลังเวลาทำงานจึงถือว่าผิดเจตณารมณ์ของกฎหมาย  กฎหมายต้องการให้ลูกจ้างมีเวลาพักต่อเนื่องเพื่อผ่อนคลายสรีระสักระยะแล้วค่อยเริ่มทำงานกันต่อ  แต่คุณให้หมุนเวียนกันพักแค่ 30 นาที กินข้าวยังไม่อิ่มท้องเลยต้องทำงานต่อ เป็นการทรมานลูกจ้างไงครับ เขาถึงบอกว่ามันผิด   
คำถาม : มีวิธีการทำให้ถูกและให้ผ่านแรงงานไหม ? 
คำตอบคือ : มีแน่นอน 1.ต้องเข้าใจกฎหมาย 2. ต้องเข้าใจเจ้าหน้าที่แรงงาน 3.ต้องมีคำพิพากษาฎีกาอ้างอิง 4. ต้องมีข้อตกลงกับลูกจ้าง 5.ต้องมีทนายอย่างผมช่วยอีกแรง (จบข่าว)
คำถาม : พักเกิน 1 ชั่วโมงได้ไหม ? 
คำตอบคือ : ได้แน่นอน นายจ้างที่สร้างปัญหาให้ผมแก้มี 3 แบบ คือพักเกิน  พักขาด พักผิด
คำถาม : พักเกินผิดกฎหมายไหม ? 
คำตอบคือ : ไม่ผิด แต่เสียเวลาทำงาน ลูกจ้างต้องอยู่ในโรงงานดมสารเคมีนานขึ้นแค่นั้นเอง ไม่เป็นผลดีทั้งสองฝ่าย
คำถาม : แล้วพักขาด กับพักไม่ถูกต้องละ ? 
คำตอบคือ : พักขาดต้องจ่ายค่าแรงเวลาพักที่ขาดไป และกฎหมายลงโทษปรับสองหมื่นบาท  ส่วนพักผิดอาจต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มหรือค่าล่วงเวลาแล้วแต่กรณี 
คำถาม : แล้วนายจ้างควรทำอย่างไร  ? 
คำตอบคือ : ทำให้มันถูกกฎหมายเสียก็หมดเรื่อง  
คำถาม : ถ้าทำผิดไปแล้วทำอย่างไร? 
คำตอบคือ : กฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อย และสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม ไม่มีเจตนาจะเอาใครเข้าคุกหรอก ฆ่าคนตายสารภาพศาลยังลดกึ่งหนึ่ง นี่แค่หลงจัดเวลาพักให้กับลูกจ้างผิดพลาดไปเท่านั้นเอง สารภาพซะว่าผิดแล้วก็ทำให้มันถูก
คำถาม : แล้วจะทำให้ถูกได้อย่างไร ? 
คำตอบคือ : HR Manager นั่นไง ใช้เขาทำให้ถูก ถ้ายังไม่รู้ก็ส่งไปอบรมเสีย อบรมมาแล้วทำไม่ได้ ก็จ้างที่ปรึกษาเข้าไปช่วย ที่ปรึกษาเข้าไปแล้วยังทำไม่ได้ ก็เลิกจ้างทั้ง HR Manager และที่ปรึกษาไปเลย แค่เรื่องเวลาพักง่ายๆ ยังทำไม่ได้ เรื่องอื่นจะคาดหวังอะไรได้เล่า 
คำถาม : ถ้าบริษัทมีสหภาพ แล้วสหภาพไม่ยอมให้เปลี่ยนละทำอย่างไร ? 
คำตอบคือ : ผมก็เคยเจอเหมือนกัน ก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ สหภาพก็ต้องฟังเหตุผล ของมันผิดจะดันทุรังให้นายจ้างทำผิดต่อไปไม่ได้ ถ้านายจ้างเจอแบบนี้ ก็ต้องจ้างผมอีกนั่นแหละที่จะไปช่วยอธิบายให้ (แต่บอกไว้ก่อนว่าจะแพงหน่อยนะ เพราะมันมีค่าเสี่ยงภัยรวมอยู่ด้วย)  ถ้ากล่อมไม่ได้ก็พากันไปนั่งกินกาแฟที่ศาล ให้ศาลชี้ขาดให้อีกทีก็ได้ (เบื้องต้นใช้แรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันดีที่สุด) 
คำถาม : ถ้า HR บอกนายแล้วนายไม่ทำตามละทำอย่างไร ? 
คำตอบคือ : อันนี้ผมก็เคยเจอมาเยอะ อย่างแรกเอากฎหมายให้นายดู เอาคำพิพากษาฎีกาให้ดู หรือไม่ก็ให้ที่ปรึกษาเข้าไปช่วยพูดให้นายฟัง ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น ก็เขียนใบลาออกไปเลย เก่งอยู่แล้วไม่ต้องกลัว ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ต่อไปก็เสียเวลาพัฒนาอาชีพ HR เปล่าๆ 
คำถาม : ทำไมที่พี่พูดมาดูมันง่ายจัง  ? 
คำตอบคือ : นั่นนะสิ ง่ายๆ แค่เนี่ย ทำได้ไหมละ หรือยังทำผิดอยู่ ก็แก้ไขให้ถูกซะ   จริงๆ แล้วปัญหาเรื่องเวลาพักมีอีกเยอะครับ มันเป็นปัญหาหยุ๋มหยิม มากกว่า บางที่จัดเวลาพักไม่ได้ก็มี บางที่ให้พักแต่ตายังต้องมองเครื่องจักรอยู่ก็มี บางที่เวลานอนมากกว่าเวลาทำงานเสียอีก ยังต้องมาถามว่าจะจัดเวลาพักยังไงอีก เพราะเวลานอนไม่ใช่เวลาพัก ผมเคยเจอบางแห่ง ต้องให้ยามไปปลุกพยาบาลกะดึกลุกขึ้นมาพักก็มี เพราะกลัวผิดกฎหมาย อย่างคนขับรถผู้บริหาร เช้ามาส่งนายแปดโมง หลังจากนั้นนั่งรอรับกลับตอนเย็น ตกลงให้เขาพักตอนไหนเพราะตอนเที่ยงต้องรอรับนายไปกินข้าว ตกลงเขาไม่ได้พักตามกฎหมาย อย่างช่างเสริมสวย วันๆ มีลูกค้าเข้า 2 คน เวลานั่งรอลูกค้ามากกว่าเวลาทำงานซะอีก แล้วต้องจัดเวลาพักไหมละครับเจ้านาย อย่างเมสเซนเจอร์ละให้เขาพักตอนไหน มันหยุ๋มหยิมไหมละครับ นี่แค่น้ำจิ้มนะจริงๆ มีอีกเยอะที่มีปัญหากันไปถึงศาล แต่โชคดีมันนิดๆ หน่อยๆ ถึงศาลชั้นต้นก็คุยกันได้ไม่ค่อยมีถึงศาลฎีกา เท่าไหร่ แต่ก็อย่าประมาทนะ อาจจะมีของท่านเป็นที่แรกก็ได้ ใครจะไปรู้       

เอาไว้คุยกันใหม่เรื่องอื่นๆ ละกันนะครับ  มีไรก็เมลมา thailawyers@hotmail.com จะได้รับความสะดวกมากกว่าโทรศัพท์ครับ   บางทีโทรมาไม่ได้รับสาย หรือรับแล้วไม่ค่อยมีเวลาฟังปัญหาท่านเท่าไหร่  เป็นธรรมดาครับ เพื่อปาก เพื่อท้อง ของฟรีๆ รอไปก่อน  ไม่ว่ากันนะครับ 
ทนายประเสริฐ เหล่าทึมหลวง 
0816160527  
ติดตามคำพิพากษาอื่นๆ ได้ที่
http://www.lawyer1.net