วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เคยจ่ายโบนัสทุกปี ปีนี้ไม่จ่ายไม่ได้นะครับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8114 - 8868/2546
    โจทก์ทั้งหมดและจำเลยมีการตกลงเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างทุกปีตลอดมาจนเป็นปกติวิสัยโดยไม่ได้ยึดถือหรือคำนวณจากผลประกอบการหรือกำไรสุทธิเป็นเกณฑ์ แต่ยึดอายุงานและความขยันหมั่นเพียรไม่ขาด สาย ป่วย ลา     เกินกำหนด เป็นสำคัญ จึงถือได้ว่าเป็นสภาพการจ้างที่ตกลงกันโดยปริยายซึ่งมีผลผูกพันโจทก์ทั้งหมดดังกล่าวและจำเลยให้ต้องปฏิบัติตาม จำเลย จะออกประกาศ ระเบียบหรือกฎเกณฑ์ใดให้ขัดหรือแย้งกับสภาพการจ้างเรื่องการจ่ายเงินโบนัสนั้นไม่ ได้เว้น แต่จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง เมื่อจำเลยออกประกาศเรื่องการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2544 ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งหมดมากกว่าสภาพการจ้างเดิม ประกาศของจำเลยฉบับดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับแก่โจทก์รายใดจึงขึ้นอยู่กับโจทก์รายนั้น ๆ ให้ความยินยอมรับเอาเงินโบนัสตามประกาศของจำเลยเป็นสำคัญ 
    เงินโบนัสประจำปีมีประเพณีปฏิบัติกำหนดจ่ายภายในวันสิ้นปี จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดชำระตามวันแห่งปฏิทิน ดังนั้น      โจทก์รายที่ยังไม่ได้รับเงินโบนัส และโจทก์รายที่ได้รับเงินโบนัสประจำปีไปแล้วบางส่วน เมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินโบนัสประจำปี จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ดังกล่าว การที่จำเลยไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัด แม้ได้ความว่าจำเลยได้ปิดประกาศ เรื่องการจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างทราบอันอาจถือดูบล็อกได้ว่าเป็นการปฏิบัติการขอชำระหนี้ก็ตาม แต่ตามประกาศนั้นกำหนดเงินโบนัสที่จะจ่ายน้อยกว่าสิทธิที่โจทก์แต่ละรายจะพึงมีสิทธิได้รับตามข้อตกลงในส่วนที่เป็นสภาพการจ้าง การที่โจทก์เหล่านั้นปฏิเสธจึงมีมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิในการรับเงินโบนัสประจำปีพิพาท เมื่อจำเลยไม่จ่ายเงินโบนัสประจำปีตามวันที่กำหนดย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์

ถาม: ถ้านายจ้างจ่ายโบนัสทุกปี ปีนี้ไม่จ่ายได้หรือไม่?
ตอบ: ถ้าจ่ายโบนัสทุกปี ไม่สนใจว่าขาดทุนหรือกำไร ปีนี้ถ้าไม่จ่ายลูกจ้างก็ฟ้องขอให้จ่ายได้ 
ถาม: ต้องจ่ายเท่าเดิมหรือไม่?
ตอบ: อาจจะไม่เท่าเดิมก็ได้ แต่ไม่จ่ายเลยไม่ได้แน่นอน
ถาม: ถ้านายจ้างจะไม่จ่ายต้องทำอย่างไร? 
ตอบ: ก็ต้องยื่นข้อเรียกร้องของดจ่ายกับลูกจ้าง หรือจะตกลงเป็นคนๆ ไปก็ได้ (ต้องทำข้อตกลง)
ถาม: ถ้านายจ้างขาดทุนไม่มีเงินจ่ายโบนัสควรทำอย่างไร? 
ตอบ: ก็บอกลูกจ้างตรงๆ แต่ถ้าไม่มีจ่ายเลยลูกจ้างคงไม่ยอม ก็จ่ายบ้างนิดหน่อย ลูกจ้างก็ควรจะยอม
ถาม: ถ้าลูกจ้างไม่ยอมทำอย่างไร?
ตอบ: ก็ต้องยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้าง และมีการเจรจากันภายใน 3 วัน ถ้าตกลงไม่ได้ก็แจ้งข้อพิพาทต่อแรงงานให้เข้ามา ไกล่เกลี่ยให้จบภายใน 5 วัน หลังจากนั้นถ้าตกลงกันไม่ได้ก็แจ้งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงไม่ได้ นายจ้างก็มีสิทธิปิดงานโดย ไม่จ่ายค่าจ้าง หรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานโดยไม่เอาค่าจ้างก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้แรงงานและอีกฝ่ายหนึ่งทราบก่อนหยุดงานหรือ ปิดบริษัทไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง มีอีกทางออกให้สวยทั้งสองฝ่ายก็ขอให้แรงงานตั้งผู้ชีขาดให้ก็ได้ 
ถาม: ถ้าทะเลาะกันใครได้ใครเสีย? 
ตอบ: เสียหายทั้งสองฝ่าย ทางที่ดีใช้แรงงานสัมพันธ์คุยกันให้ได้ 
ถาม: ถ้าลูกจ้างจะยื่นข้อเรียกร้องให้จ่ายโบนัสได้หรือไม่? 
ตอบ: ถ้าบริษัทขาดทุนไม่ควรยื่น กลับไปอ่านคำถามข้อ 1 ยังไงเขาก็ต้องจ่ายให้ มากหรือน้อยเท่านั้นเอง ไม่จ่ายเลยไม่ ได้แน่นอน
ถาม: นายจ้างหลายรายรู้แล้ว คิดไม่ตก ขาดทุนหลายล้านอั๊วต้องจ่ายโบนัสอีกหรอ?
ตอบ: ก็ช่วยไม่ได้ ที่ผ่านมากำไร ขาดทุน ก็จ่าย ศาลท่านก็เลยถือว่าปีนี้ก็ต้องจ่ายเช่นเดียวกัน (ตอนนั้นไม่ปรึกษาทนาย ก่อนก็เลยยุ่งแบบนี้แหละ)
ถาม: ลูกจ้างหลายคนรู้แล้วยิ้มในใจปีนี้ยังไงก็ต้องได้โบนัสแน่นอน? 
ตอบ: ถ้านายจ้างขาดทุนก็เห็นใจเขาบ้าง เอากันนิดหน่อยพอได้สังสรรค์ปีใหม่ก็พอ อย่าเอามากไปบริษัทอาจจะเจ้งได้
ถาม: ที่เล่ามาทั้งหมดนี่ใช้กฎหมายอะไร?  
ตอบ: พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตราไหนบ้างไปหาเอาเอง 


ทนายประเสริฐ เหล่าทึมหลวง
thailawyers@hotmail.com
ติดตามคำพิพากษาอื่นๆ ได้ที่
http://www.lawyer1.net

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เวลาพักนายจ้างจะจัดให้ลูกจ้างพักแล้วกลับบ้านเลยก็ได้

จำได้ว่าตอนที่ผมร่างข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 27 เรื่องเวลาพักใหม่  มักมีความเห็นของนักกฎหมายหลายๆ คนว่า เวลาพัก 1 ชั่วโมงนั้นมันต้องอยู่ในเวลาทำงานเท่านั้น จะให้พักหลังเวลาทำงานแล้วให้พนักงานกลับบ้านเลยไม่ได้  เช่น เวลาทำงาน 08.00-17.30 น. จัดให้พัก 12.00-12.30 เท่ากับ 30 นาที แล้วให้ลูกจ้างเลิกงาน 17.00 น. ให้กลับบ้านเลย เพราะนายจ้างถือว่าเวลาพักอีก 30 นาทีพวกลื้อก็ไปพักบนรถรับส่งละกัน มีหลายต่อหลายคนก็บอกว่ามันไม่ชอบ แต่ด้วยความเคารพ ตอนนั้นผมเพิ่งเจอฎีกาเรื่องนี้ผ่านมาแว๊บๆ พอดี ก็เลยยึดหลักให้คำปรึกษาบริษัทต่างๆ รวมถึงเพื่อนๆ HR มาตลอดว่ามันทำได้ๆ เพราะมีฎีกาออกมาแล้ว แต่ตอนนั้นผมลืมเก็บฎีกานั้นไว้ก็เลยไม่มีหลักฐานอ้างอิงใดๆ วันนี้ผมตามหาฎีกาฉบับนั้นเจอแล้ว ก็ขอเอามาเขียนไว้ให้เพื่อนๆ หรือน้องๆ ได้อ่านกันดูหน่อย เผื่อมีปัญหากันเรื่องเวลาพักจะได้มีหลักฐานอ้างอิงได้ ว่าที่ผมเคยพูดมานั้นมันถูกต้องแล้ว แต่ก็ขอเตือนไว้หน่อยนะว่าการกำหนดเช่นนี้จะต้องทำให้มีกึ๋นหน่อย เอาขั้นตอนง่ายๆไป 3 ขั้นตอน คือ
1. ต้องกำหนดเวลาทำงานให้มันครอบคลุมเวลาพักไว้ เช่น 08.00-17.30 ไม่ใช่ 08.00-17.00 (ผิด)
2. ต้องตกลงกับลูกจ้างเป็นหนังสือ หรือจะตกลงกับสหภาพแทนก็ได้ (เน้นเป็นข้อตกลง)
3. เขียนไปในข้อบังคับให้ชัดเจน ว่าเวลาพักตั้งแต่ 17.00-17.30 อนุญาตให้พนักงานกลับบ้านได้

เมื่อผ่าน 3 ขั้นตอนนี้ ก็อาจจะไปมีปัญหากับเจ้าหน้าที่แรงงานอีกต่อหนึ่ง ว่าทำไม่ได้นะพี่ เวลาพักมันไม่อยู่ในเวลาทำงาน ขัดกับมาตรา 27 นะเนี่ย

ก็มีทางออก 2 แนวทาง คือ
1. เอาฎีกานี้ให้แรงงานดู ว่าศาลฎีกาบอกว่ามันทำได้นะพี่ (แอบๆ ให้หน่อยอย่าไปฉีกหน้าพี่เขามาก)
แล้วก็แนบข้อตกลงกับลูกจ้าง ให้พี่เขาดูด้วย
2. ถ้าไม่ผ่านอีก ก็กระซิบบอกว่า พี่สั่งให้แก้ไขเป็นเอกสารให้หน่อยนะ ผมจะได้เอาไปอุทธรณ์ต่อท่านอธิบดี ตามระเบียบ หรือจะได้เอาไปฟ้องศาลตามที่กฎหมายกำหนดไว้  (อันนี้ก็อย่าพูดดังเดี๋ยวพี่เขาจะหมั่นใส้ )

เอาละทีนี้มาลองอ่านคำพิพากษากันดู ถึงจะเป็นฎีกาที่ตัดสินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเดิมตั้งแต่

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน แต่มาตรา 27 ตาม คุ้มครองแรงงาน 41 วรรคหนึ่ง ก็เขียนไว้มีข้อความอย่างเดียวกัน ใช้เทียบเคียงกันได้ และแถมท้ายฎีกานี้ก็ยังมีความเห็นของกูรู อย่างอาจารย์รุ่งโรจน์แถมมาให้อีกด้วย ที่สำคัญก็อย่าลืมนะว่าคำพิพากษาฎีกาไม่ใช่กฎหมาย ในอนาคตก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ ณ ปัจจุบันผมยังไม่เห็นฎีกาใหม่มาลบล้างฎีกานี้ (ถ้าใครมีก็เอามาแชร์ๆ กันหน่อยละกันนะ) จะขอบคุณอย่างยิ่งยวด

คำพิพากษาฎีกาที่
     2214-2218/2538
     ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับลูกจ้างตามเอกสารหมาย ล.1 ตกลงให้เลิกงานเวลา
17.50 นาฬิกา   ฉะนั้นเวลา 17.30-17.50  นาฬิกา จึงเป็นเวลาทำงานอยู่   จำเลย
ให้ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงานในเวลาดังกล่าวและยินยอมให้กลับบ้านไปก่อนตั้งแต่เวลา
17.30 นาฬิกา  ถือได้ว่าช่วงเวลา 17.30-17.50 นาฬิกา จำนวน 20 นาที เป็นเวลา
ที่จำเลยจัดให้พักแล้ว เมื่อรวมกับเวลาพักตั้งแต่เวลา 12.00-12.40 นาฬิกาอีก 40
นาทีเป็นหนึ่งชั่วโมง จึงชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย  เรื่องการคุ้มครอง
แรงงานข้อ 2 และข้อ 6 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่าง
การทำงานไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมงแล้ว
คำพิพากษาฎีกาย่อยาว

2214-2218/2538    
โจทก์   นางสาวดารณี  ยินทรัพย์ กับพวก
จำเลย  บริษัทไทยเบลเยี่ยมอุตสาหกรรมจำกัด                     
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ข้อ 2 ข้อ 6)

     คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษา
เข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5
     โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลย 
จำเลยจัดให้โจทก์พักไม่ครบวันละ 1 ชั่วโมง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1
ถึงที่ 4 คนละจำนวน 7,390 บาท และโจทก์ที่ 5 จำนวน 3,328 บาท พร้อมดอกเบี้ย
     จำเลยให้การว่า จำเลยจัดเวลาพักให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าครบ 1 ชั่วโมงแล้ว
ขอให้ยกฟ้อง
     ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
     โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
     ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "...ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
เป็นยุติว่า ลูกจ้างจำเลยซึ่งรวมทั้งโจทก์ทั้งห้ามิได้พักระหว่างเวลา 10-10.20
นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยและผู้แทนลูกจ้างตกลงให้เป็นเวลาพักช่วงแรก แต่
ลูกจ้างได้หยุดพักเวลา 12-12.40 นาฬิกา และปล่อยให้ลูกจ้างกลับบ้านได้
ตั้งแต่เวลา 17.30 นาฬิกา เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับลูกจ้างตาม
เอกสารหมาย ล.1 ระบุว่าให้ลูกจ้างเลิกงานเวลา 17.50 นาฬิกา เพราะฉะนั้น
เวลาระหว่าง17.30-17.50 นาฬิกา จึงยังเป็นเวลาทำงานอยู่ จำเลยให้ลูกจ้าง
รวมทั้งโจทก์ทั้งห้าไม่ต้องทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว โดยยินยอมให้กลับบ้านได้
ก่อนเวลาเลิกงาน ช่วงเวลา 17.30-17.50 นาฬิกา รวม 20 นาที ถือได้ว่า
เป็นเวลาที่จำเลยจัดให้พักแล้วเมื่อรวมกับเวลาพักระหว่าง 12-12.40 นาฬิกา
อีก 40 นาทีจึงครบ 1 ชั่วโมง กรณีจึงชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 และข้อ 6 ซึ่งกำหนดว่า นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้าง
มีเวลาพักในระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง โดยจะให้มีเวลาพัก
เป็นหลายครั้งก็ได้ แต่เมื่อรวมเวลาพักแล้วต้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
และเวลาพักจะต้องเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการทำงานด้วย คำพิพากษา
ศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น"
     พิพากษายืน
    
 (สมมาตร พรหมานุกูล - พรชัย สมรรถเวช - ธวัชชัย พิทักษ์พล)
                                                สมบัติ มานะกุล - ย่อ

*หมายเหตุ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214-2218/2538 วินิจฉัยเกี่ยวกับเวลาพัก
ซึ่งมีข้อพิจารณาดังนี้
1. หลักกฎหมาย 
     ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2, และข้อ 6
บัญญัติว่า
     "ข้อ 2 เวลาพัก หมายความว่า  ระยะเวลาที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักระหว่าง
การทำงาน
     ข้อ 6 ในวันที่มีการทำงาน ให้นายจ้าง จัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักติดต่อกันไม่น้อย
กว่าวันละหนึ่งชั่วโมง หลังจากลูกจ้างได้ทำงานในวันนั้นมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมง
     นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักน้อยกว่าครั้งละหนึ่งชั่วโมง
ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าครั้งละยี่สิบนาที และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่าวันละ
หนึ่งชั่วโมง
     ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ที่มีลักษณะต้องทำ
ติดต่อกันไป โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว หรือเป็นงานฉุกเฉินโดยจะ
หยุดเสียมิได้"
สาระสำคัญของเวลาพัก
     1. นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก
     2. ต้องพักในระหว่างเวลาทำงาน
     3. ต้องพักหลังจากทำงานไม่เกิน 5 ชั่วโมง
     4. ต้องจัดให้พักไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง
     5. แบ่งเวลาเป็นหลายช่วงก็ได้ โดยพักแต่ละครั้งต้องไม่น้อยกว่า 20 นาที
และรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง
ข้อยกเว้นไม่ต้องพัก
     1. งานที่ทำเป็นงานฉุกเฉินจะหยุดเสียมิได้
     2. งานที่มีลักษณะต้องทำติดต่อกันไปโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว
2. ข้อพิจารณา
     2.1 ความหมายคำว่าพัก หมายถึง ลูกจ้างได้หยุดทำงานและมีอิสระในช่วง
ที่หยุดงานนั้น ซึ่งมีองค์ประกอบ 2 ประการ
     (1) ลูกจ้างหยุดทำงาน
     (2) ลูกจ้างมีอิสระในช่วงที่หยุดงานนั้น
ข้อสังเกต
     1) ลูกจ้างต้องหยุดทำงานและมีอิสระจึงจะถือว่าพัก หากหยุดไม่ต้องทำงาน แต่ยัง
ไม่มีอิสระไม่ถือเป็นเลาพัก เช่น ลูกจ้างซึ่งเป็นนายแพทย์มานั่งปฏิบัติงานที่โรงพยาบาล
ขณะนั่งรอคนไข้ถือว่าช่วงนั่งรอดังกล่าว แม้จะหยุดทำงาน แต่นายแพทย์ผู้นั้นไม่มี
อิสระ จึงถือว่าช่วงดังกล่าวเป็นเวลาพักไม่ได้
     2) ลูกจ้างต้องทำงานมาแล้วจึงจะพักก่อนทำงานไม่ได้ เช่น บริษัทรุ่งโรจน์
จำกัด กำหนด เวลาทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เริ่มทำงานเวลา 8.00 นาฬิกา เลิกงาน
เวลา 17.00 นาฬิกา บริษัทฯจะกำหนดให้ช่วงเวลา 7.30-8.00 นาฬิกาเป็นเวลาพัก
ไม่ได้ เพราะเป็นการพักผ่อนก่อนเวลาทำงาน
     3) นายจ้างต้องจัดให้พักเมื่อลูกจ้างทำงานมาไม่เกิน 5 ชั่วโมง เช่น ตามตัว
อย่างในข้อ 2) นายจ้างจัดให้พัก 1 ชั่วโมงในช่วง 12-13 นาฬิกา ถือว่าเป็นการจัด
ให้พักโดยถูกต้อง เพราะพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และทำงานมาแล้ว 4 ชั่วโมง (ช่วง
8-12 นาฬิกา ซึ่งไม่เกิน 5 ชั่วโมง)
     หาตามตัวอย่างข้างต้น จะจัดให้พักในช่วง 14-15 นาฬิกา เช่นนี้
ทำไม่ได้ เพราะทำเกิน 5 ชั่วโมงแล้วจึงพัก
     4) การพัก 1 ชั่วโมง สามารถให้พักครั้งเดียว 1 ชั่วโมง หรือแบ่งให้พัก
หลายครั้งก็ได้ แต่ละครั้งต้องไม่น้อยกว่า 20 นาที
ตัวอย่างการพักที่ถูกต้อง
     4.1 เริ่มทำงานเวลา 8 นาฬิกา เลิกงานเวลา 17 นาฬิกา จัดให้พักช่วงเวลา
12-13 นาฬิกา
     4.2 เริ่มทำงาน 8 นาฬิกา เลิกงาน 17 นาฬิกา จัดให้พักช่วงแรก เวลา
10-10.20 นาฬิกา ช่วงเที่ยงพัก 12-12.40 นาฬิกา รวมแล้วเท่ากับ 1 ชั่วโมง
ช่วงเที่ยง 12-12.20 นาฬิกา และช่วงบ่าย 15-15.20 นาฬิกา รวมแล้วเท่ากับ 1
ชั่วโมง
ตัวอย่างการพักที่ไม่ถูกต้อง
     4.1 เริ่มทำงานเวลา 8 นาฬิกา เลิกงานเวลา 17 นาฬิกา จัดให้พักช่วง 10-10.15
นาฬิกา เป็นเวลา 15 นาที และพักช่วง 12-12.45 นาฬิกา เพราะช่วงแรกพักไม่ถึง
20 นาที
     4.2 ตามตัวอย่างในข้อ 4.1 จัดให้พัก 3 ช่วง ช่วงแรก 10-10.15 นาฬิกา
่ช่วงสองช่วง 12-12.30 นาฬิกา และช่วงบ่ายเวลา 15-15.15 นาฬิกา เพราะ
การพักช่วงเช้าและบ่ายพักไม่ถึง 20 นาที
     5) นายจ้างต้องจัดให้พักในระหว่างเวลาทำงาน จะจัดให้พักก่อนทำงาน หรือ
หลังเลิกงานแล้วไม่ได้
     คำว่า ระหว่างเวลาทำงาน นั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครอง
แรงงานมิได้ให้คำนิยามศัพท์ไว้ จึงมีนักกฎหมายในวงการแรงงาน แปลความหมาย
เป็น 2 แนวทาง
     ความเห็นแรก เห็นว่า ระหว่างเวลาทำงาน หมายถึงช่วงที่มีการทำงานจริง
และต้องพักในช่วงทำงานมาแล้ว และก่อนเลิกงาน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ก่อนพัก
ต้องทำงานมาแล้ว และหลังพักก็ต้องมีการทำงานอีก เช่น
     1) เริ่มทำงานเวลา 8 นาฬิกา เลิกงานเวลา 17 นาฬิกา ให้พักเวลา 12-13
นาฬิกา ถือว่าเป็นการพักในระหว่างทำงานเพราะก่อนพักมีการทำงานมาแล้ว และ
หลังพักมีการทำงานอีก หากหลังจากพักแล้วไม่ถือเป็นการพัก เพราะถือว่าเป็นการ
พักหลังเลิกงานแล้ว เช่น เริ่มทำงานเวลา 8 นาฬิกา เลิกงานเวลา 17 นาฬิกา นายจ้าง
จัดให้พักในช่วงกลางวัน 30 นาทีตั้งแต่เวลา 12-12.30 นาฬิกา แล้วให้ลูกจ้าง
กลับบ้านได้ตั้งแต่เวลา 16.30 นาฬิกา ความเห็นของฝ่ายแรกนี้ เห็นว่า ช่วงเวลา
16.30-17.00 นาฬิกา มิใช่เวลาพัก เพราะหลังพักแล้วไม่มีการทำงานอีก
     ความเห็นที่สอง เห็นว่า คำว่า ระหว่างเวลาทำงาน หมายถึง ช่วงเวลาที่นายจ้าง
กำหนดให้ลูกจ้างทำงานตามปกติ เช่น บริษัทกำหนดเวลาทำงานปกติตั้งแต่เวลา
8-17 นาฬิกา ถือว่าช่วงตั้งแต่ 8-17 นาฬิกา เป็นช่วงระหว่างเวลาทำงาน หากจัด
ให้พักในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างเวลาดังกล่าว ถือว่าเป็นการจัดให้พักในระหว่าง
เวลาทำงาน ไม่จำต้องมีการทำงานหลังจากพักแล้วหรือ
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214-2218/2538 วินิจฉัยตามความเห็นที่สอง
โดยวางหลักเกณฑ์อย่างชัดแจ้งดังนี้
     1. กำหนดเวลาทำงานที่นายจ้างกำหนดให้ทำงานตามปกติถือว่าเป็นเวลาทำงาน
     2. การจัดให้พักในช่วงเวลาทำงานปกติถือว่าเป็นการจัดให้พักในระหว่างเวลา
ทำงาน
     3. หลังจากพักแล้ว ไม่จำต้องมีการทำงานอีก
     4. การจัดให้พักหลายครั้ง เมื่อรวมแล้วไม่น้อยกว่าวันละ 1   ชั่วโมง ถือว่า
เป็นการพักที่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานแล้ว
     เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวออกมาทำให้ชัดแจ้งลดข้อโต้แย้งของคู่กรณี
ได้อย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์แก่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง อีกทั้งเป็นการแก้
ปัญหาการจราจรได้อีกโสตหนึ่งด้วย

                                            รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์







ขอขอบคุณ www.thailandlaw9.com ผู้พิมพ์ฎีกาเผยแพร่ 




ทนายประเสริฐ เหล่าทึมหลวง 
thailawyers@hotmail.com 
ติดตามคำพิพากษาอื่นๆ ได้ที่

http://www.lawyer1.net