วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่สามารถทำได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 16007/2553

เลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่สามารถทำได้  คำพิพากษาฎีกาที่ 16007/2553
                 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 62 บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา 28 มาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราดังต่อไปนี้ 
                  (1) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย" และ
                    มาตรา 63 บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย" 
                    บทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้นายจ้างปฏิบัติในการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดโดยเคร่งครัดตามอัตราที่กำหนดไว้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในเรื่องค่าแรงงาน จึงกำหนดอัตราค่าแรงงานไว้มิให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง ถือว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบังคับเด็ดขาด ซึ่งจะตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ 
                     ดังนั้น การที่จำเลยให้ลูกจ้างและโจทก์ทำงานในวันหยุด โดยจ่ายค่าอาหาร ค่าจ้างโดยคำนวณจากยอดขายสินค้า และจัดให้ลูกจ้างหยุดชดเชยในวันอื่นโดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่อาจใช้บังคับได้ จำเลยต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดแก่โจทก์
ถาม: บริษัทแลกวันหยุดประจำสัปดาห์กับลูกจ้างได้หรือไม่ ? 
ตอบ: ถ้าข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกานี้ทำไม่ได้ 
ถาม: มีหลายบริษัททำ บางทีบริษัทเราก็เคยทำ ทำไมทำได้ ? 
ตอบ: ก็ที่ทำอยู่มันผิด ถ้ามีการไปฟ้องศาลก็ต้องถือตามแนวคำพิพากษาฎีกานี้แระ 
ถาม: ถ้าจะทำเหมือนเดิมต้องทำยังไง ? 
ตอบ: ทำเหมือนเดิมก็ไ้ด้ กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่กฎหมายบังคับเด็ดขาดว่าต้องจ่ายค่าจ้างให้มันถูกต้องเท่านั้นเอง ก็คิดง่ายๆ คือให้เขามาทำงานในวันหยุดก็จ่ายตามกฎหมาย ชอบไปคิดซิกแซกให้เมื่อยตุ้ม อย่างกรณีนี้ ทำข้อตกลงกับลูกจ้างก็ไม่ได้ ศาลถือเป็นโมฆะ  เพราะฉะนั้นจะตกลงอะไรกันไว้ก็ไม่มีผล วันหยุดก็คือวันหยุด ทำงานในวันหยุดก็จ่ายตามกฎหมาย และก็ไม่ต้องไปจัดวันหยุดใหม่ทดแทน (เสียของเปล่าๆ) 
ถาม: มีความเห็นเพิ่มเติมไหมครับ  ? 
ตอบ: มีนิดหน่อย HR ต้องดูเรื่องวันหยุดประจำสัปดาห์ให้ดี ๆ โดยเฉพาะตามข้อบังคับกำหนดว่าวันทำงานปกติวันจันทร์-วันเสาร์  ผมเห็นหลายบริษัทก็ชอบเปลี่ยนวันหยุดประจำสัปดาห์กับพนักงานเป็นประจำ เช่นทำ 4 วันหยุด2 วัน แบบนี้เป็นต้น ผลตามมาก็คือ 2 วันที่หยุดไปถ้าไม่ตรงวันหยุดประจำสัปดาห์ของเขาก็เสียของเปล่าๆ  เพราะต้องจ่ายเงินเพิ่ม  บางบริษัทบอกว่าเลื่อนวันหยุดก็พนักงานเซ็นยินยอมนี่ครับ ทำไมทำไม่ได้ ก็ต้องไปหาฎีกานี้อ่านให้ละเอียดแล้วตีความออกมาดูสิครับ
ถาม: ถามเพิ่ม มีทางทำอย่างอื่นได้ไหม  ? 
ตอบ: มีแน่นอน เคยบอกแล้วกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชน รัฐมีสิทธิเข้ามาแทรกแทรงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น วิธีการก็คือทำเสียให้มันถูกแต่ต้น ส่วนจะทำอย่างไรไปหาทางเอาเอง ถ้าถามผมต่อ ก็ต้องเสียเงินจ้างไปเป็นที่ปรึกษาตามระเบีียบครับ
ถาม: ถามเพิ่มอีกหน่อยพี่ ผมเป็นลูกจ้างลาออกมาแล้วฟ้องเรียกเงินตามฎีกานี้ได้ไหม ?  
ตอบ: สิทธินี้เป็นของท่าน ฟ้องย้อนหลังกลับไปได้ 2 ปี ส่วนที่เกิน 2 ปี เรียกไปเป็นค่าเสียหายแทนค่าจ้างก็ได้ สืบได้ ศาลให้ แต่เตือนไว้ก่อนนะครับ คำพิพากษาฎีกาไม่ใช่กฎหมาย คำตัดสินคดีอื่นๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาและข้อเท็จจริงในคดี   ถ้าออกมาแล้วพอมีพอกินและไม่อยากเป็นความ ก็แล้วๆ กันไปเหอะ คดีจะรกโรงรกศาลเปล่าๆ แต่ถ้าคิดว่าเงินที่จะได้ตามสิทธิมันเยอะล่อใจ คุ้มค่า ก็ไปพิจารณาเอาเองก็แล้วกัน  การเป็นความไม่แพ้ก็ชนะ หรืออาจเสมอตัว ก็อาจเป็นไปได้ทั้งสิ้น 

ทนายประเสริฐ เหล่าทึมหลวงthailawyers@hotmail.com


     
ติดตามคำพิพากษาอื่นๆ ได้ที่
http://www.lawyer1.net


1 ความคิดเห็น:

  1. การเปลี่ยนแปลงวันหยุดจากปฏิทิน​ที่ออกมาในแต่ละปีลูกจ้างต้องยินยอมก่อนป่าวคับหรือน้ายจ้างทำได้เลยตอนใหนก็ได้หรือไม่ต้องถามลูกจากเลย

    ตอบลบ