วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ช่างไฟฟ้า งานซ่อมบำรุง ต้องมีหนังสือรับรองวิชาชีพจากกรมพัฒนาฯ ภายในเดือนตุลาคมนี้ ไม่งั้นตกงาน

     สวัสดีทุกท่านอีกหนครับ นานมากๆ นานจนลืมที่ผมไม่ได้มาเขียนอะไรในบล็อกนี้อีกเลย พอนึกอยากเขียน ก็มาเขียนทิ้งๆ ไว้สงสัยจะเขียนดีจนไม่มีใครอยากถามต่อ (อ่านเข้าใจหมด) ห้าห้าห้า  วันนี้พอมีเวลาก็กลับมาโม้ให้ท่านฟังพอได้ประโยชน์ด้านกฎหมายแรงงานครับ ถึงสำนวนไม่เร้าใจเหมือนนักเขียนมืออาชีพ ก็ถือเอาสาระเป็นที่ตั้งก็แล้วกันนะ ถ้าสงสัยอะไรก็โทรมา หรือเมลมาทิ้งไว้ได้นะครับ  มีเวลาก็จะตอบให้ด่วนครับ  

     วันนี้อยากเก็บเอาเรื่องราวของปัญหาข้อกฎหมายมาฝากตามเคยครับ สืบเนื่องจากผมได้เข้าไปให้คำปรึกษาบริษัทต่างๆ ที่เป็นผู้อุปการะคุณด้านการเงินให้ผมได้พอใช้จ่ายเลี้ยงชีพหลายๆ แห่งแล้ว สิ่งที่พบที่เจอมาเกี่ยวกับปัญหา "ความรู้ความเข้าใจ ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในทางปฎิบัติ " ที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่าน ผมก็จะเก็บมาเล่าสู่ฟังเท่าที่จะมีเวลาเอื้ออำนวย
      วันนี้ก็เก็บเอาเรื่องราวของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมาแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 มาฝากครับ กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2558 เป็นต้นมา หลายๆ ท่านคงยุ่งอยู่กับการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง จึงไม่มีเวลามาใส่ใจตรวจสอบกฎหมายฉบับนี้ เท่าที่ผมดูการทำงานของภาครัฐ (กระทรวงแรงงาน) ก็เตรียมการบังคับใช้กฎหมายไปได้มากพอสมควร แต่พี่น้องเรา นายจ้าง-ลูกจ้าง ก็ยังไม่ได้รับรู้เท่าที่ควร  ผ่านมาหลายเดือนผมได้ถามนายจ้าง-ลูกจ้าง ว่ารู้เรื่องกันมากน้อยแค่ไหน คำตอบที่ได้รับก็คือ ยังไม่ทราบ 
        มาถึงตรงนี้คนที่รู้แล้วก็ไม่ต้องอ่านต่อก็ได้ครับ แต่คนที่ยังไม่รู้ ผมขอให้ท่านอ่านและทำความเข้าใจ เพราะจะเป็นประโยชน์และอาจเกี่ยวข้องกับท่านโดยตรงก็ได้
  •         ประเด็นมีอยู่ว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2559 นี้เป็นต้นไป ใครที่มีช่างซ่อมบำรุงอยู่ในมือหรือในองค์กร ที่มีฝ่ายซ่อมบำรุงที่เป็นช่างไฟฟ้าในอาคาร ต้องทำตามกฎหมายฉบับนี้นะครับ มาดูกันว่ากฎหมายเขากำหนดไว้อย่างไรบ้าง 
        1. พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ฉบับนี้ ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ประกาศกำหนดงานอาชีพของคนไทยไว้สองประการคือ
             1.1 งานสาขาอาชีพที่รัฐจะทำการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงานตาม มาตรา 7 (1)
             1.2 งานสาขาอาชีพ ตำแหน่งงานหรือลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรืองานที่ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถว่าด้วยกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงานตามมาตรา 7 (2)
  •         ขออธิบายความ ตามข้อ 1.1 ก่อนนะครับ ท่านรัฐมนตรีฯ  (สุวัจน์ ลิปตพัลลภ) ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2546 (ออกมาพร้อมๆ กับ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ก่อนมีการแก้ไขในปี 2557 ) ประกาศฉบับนั้นกำหนดงานที่รัฐบาลจะต้องส่งเสริมไว้อยู่ 7 กลุ่มสาขาอาชีพ คือ  อาชีพช่างก่อสร้าง อาชีพช่างอุตสาหกรรม อาชีพช่างเครื่องกล อาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ อาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ อาชีพเกษตรอุตสาหกรรม และสาขาอาชีพภาคบริการ ซึ่งกลุ่มงานสาขาอาชีพเหล่านี้รัฐต้องหาทางส่งเสริมและพัฒนาคนไทยเราให้เก่งและมีมาตรฐานฝีมือ รวมถึงรัฐต้องกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามราคาของฝีมือแรงงานของแต่ละสาขาอาชีพด้วย 
           ตามความหมายของข้อ 1.1 นี้ ผลกระทบที่มาถึงนายจ้าง-ลูกจ้าง ก็มีแค่เรื่องการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามฝีมือแรงงานเท่านั้นเอง อธิบายเข้าใจง่ายๆ ก็คือนายต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามฝีมือแรงงานของลูกจ้าง แน่นอนว่ามันต้องมากกว่าวันละ 300 บาทแน่นอน เพราะค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มันเป็นค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานทั่วไป ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ครั้งที่ 2/2559 มีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 20 สาขาอาชีพ สูงสุดวันละ 550 บาท/วัน ต่ำสุด 360 บาท/วัน น่าจะประกาศบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2559 นี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mol.go.th/content/50741/1465442317


           ลูกจ้างอย่าพึ่งเฮ....ดีอกดีใจนะครับ เพราะกฎหมายเขามีเงื่อนไขว่าลูกจ้างต้องไปทดสอบฝีมือแรงงานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ผ่าน จนได้หนังสือรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสียก่อน แล้วค่อยนำมายื่นต่อนายจ้างเพื่อขออัพเงินเดือนขึ้น (ถ้าที่ได้รับอยู่ต่ำกว่ากฎหมาย) เท่าที่ผมเจอในทางปฎิบัติที่ผ่านมามีลูกจ้างจำนวนน้อยที่ไปขอทดสอบฝีมือแรงงานและเอาหนังสือรับรองมายื่นต่อนายจ้าง อาจเป็นเพราะเห็นว่าค่าจ้างตามประกาศค่าจ้างฝีมือแรงงานมันก็ไม่ต่างจากคนงานทั่วไป 300 บาท มากนัก หรือบางคนเขาก็มีเงินเดือนเกินขั้นต่ำฝีมือแรงงานอยู่แล้ว ก็ไม่รู้จะไปทดสอบให้เมื่อยมือทำไม (บางคนกระซิบบอกผมรู้ตั้งนานแล้วแต่ไม่กล้าเอามายื่น) เพราะกลัวตกงานก็มี จึงทำให้นโยบายรัฐไม่ได้ผลเท่าที่ควร ความเห็นส่วนตัวผมนะ ถ้าจะให้มันได้ผลจริง รัฐต้องกำหนดมาตรฐานฝีมือให้มันสูงส่ง และกำหนดค่าจ้างตามฝีมือแรงงานให้มันเร้าใจมากกว่านี้ รับรองว่าลูกจ้างเขาต้องรีบขนขวายพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ได้ค่าจ้างสูงขึ้นแน่นอน ฝีมือดี แต่เงินน้อย ใครมันจะอยากไปพัฒนาละครับ และที่สำคัญกว่านั้นไม่ต้องให้ลูกจ้างเอาไปยื่นกับนายจ้างเองหรอกครับ ใครสอบผ่านรัฐก็ทำหนังสือถึงนายจ้างให้ปรับค่าจ้างขึ้นได้เลยจะได้หมดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ ถ้าลูกจ้างไปขอปรับค่าจ้างเองก็อาจมีปัญหาการเลิกจ้างตามมาอีกก็ได้ เพราะนายจ้างเขาไม่ต้องการฝีมือสูงส่งขนาดนั้น เขาต้องการฝีมือแค่ทำงานให้เขาได้ และเขาพอจ่ายค่าจ้างได้ก็พอ สิ่งที่ตามมาก็คือ รัฐต้องหานายจ้างรองรับพนักงานฝีมือมาตรฐานเหล่านี้เผื่อตกงานไว้ด้วยไม่เช่นนั้น ลูกจ้างฝีมือดี อาจต้องยอมรับค่าจ้างต่ำกว่าฝีมือต่อไปเพราะไม่มีทางเลือกก็ได้ ข้อนี้ขอจบแค่นี้ครับ เดี๋ยวนอกเรื่องไปกระทบชาวบ้านเขามากเกิ้นไป ไปดูข้อ 2.2 กันดีกว่าอันนี้สิครับ งานเข้าทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง
  •        มาอธิบายความตามข้อ 2.2 ข้อนี้ละครับทั้งลูกจ้าง-นายจ้าง ต้องทำกันแล้ว ถ้าไม่ทำ หรือทำไม่ได้ มันมีโทษตามกฎหมาย กฎหมายปรับลูกจ้าง 5,000 บาท นายจ้างโดน 30,000 บาท แน่นอน
          ที่มาของเรื่องนี้ก็คือ ท่านรัฐมนตรีฯ (พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 กำหนดให้คนที่ทำงานช่างไฟฟ้าในอาคาร ต้องผ่านการทดสอบและได้หนังสือรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยให้เวลา 365 วันนับแต่วันประกาศซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 26 ตุลาคม 2559 นี้ พูดภาษาชาวบ้านก็คือ กฎหมายให้เวลาลูกจ้าง-นายจ้าง 1 ปี ดำเนินการให้ช่างไฟฟ้าในอาคารทั้งหลายไปทำการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานตามหลักสูตรที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเขากำหนด ไม่เช่นนั้นจะทำงานไฟฟ้าต่อไปไม่ได้ (ทำไมถึงทำต่อไม่ได้) ก็เพราะกฎหมายห้ามจ้างคนที่ไม่ผ่านการทดสอบฝีมือแรงงานและมีหนังสือรับรองจากกรมฯ ทำงานไฟฟ้าในอาคารเด็ดขาด เพราะมันเป็นงานที่อันตรายต่อสาธารณะ ถ้านายจ้างให้ทำต่อก็ผิดกฎหมายโดนปรับ 30,000 บาท จบข่าว 
          ดังนั้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2559 นี้ ช่างซ่อมบำรุงคนใดที่ทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าอยู่ไม่ว่าจะแค่เดินสายไฟเฉยๆ ก็เถอะ หากไม่ผ่านการทดสอบฝีมือแรงงานและมีหนังสือรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานตามมาตรา 26/3 ก็ทำงานนี้ไม่ได้ ขอย้ำว่าถ้ายังขืนทำงานต่อไปอาจโดนปรับ 5,000 บาท ตามมาตรา 53/1 
          มาถึงนายจ้างบ้าง เหลือเวลาอีกแค่ 139 วัน ทางแรงงานสัมพันธ์ท่านจะแก้ไขอย่างไร เพราะถ้าช่างไฟฟ้าในองค์กรท่านไม่ผ่านการทดสอบหรือได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ท่านก็จะจ้างเขาต่อไปไม่ได้เช่นเดียวกัน (หรือจ้างต่อไปได้แต่ให้ไปทำงานอื่นแทนก่อน) จนกว่าเขาจะได้หนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานจากกรมฯ ไม่เช่นนั้นท่านก็จะมีความผิดตามมาตรา 53/2 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ฉับบที่ 2 นี้ โทษปรับ 30,000 บาท
          ดังนั้นนายจ้างต้องหาวิธีการสนับสนุนให้ลูกน้องตัวเอง เข้าทำการทดสอบฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้หนังสือรับรองจากกรมฯ โดยเร่งด่วน ต้องสนับสนุนทั้งด้านข้อมูลการเข้าทดสอบรวมถึงเงินค่าธรรมเนียมในการสอบ (บางทีอาจต้องจ่ายไปแทนก่อนแล้วค่อยหักคืนทีหลังก็ได้) สำหรับการสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานติดตามได้ใน
www.dsd.go.th



         เอาแค่นี้ก่อนนะครับ ไว้มีเวลาผมจะมาเล่าให้ฟังต่อว่ามาตรฐานช่างฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้าในอาคารเขามีกี่ระดับ แต่ละระดับทำงานอะไรได้บ้าง  หรือท่านที่สนใจก็ไปดูข้อมูลของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ได้ครับ เป้าหมายเขาตั้งไว้ทดสอบและออกใบรับรองเดือนละ 400 คน และอาจมอบหมายให้เอกชนทำการทดสอบช่วยอีกแรง ไม่เช่นนั้นคงต้องออกประกาศมาผ่อนผันยืดเวลาออกไปอีก เพราะเท่าที่รู้ตอนนี้โรงงานหลายๆ แห่งมีช่างซ่อมบำรุงที่ผ่านผ่านการทดสอบมาตรฐานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานน้อยมาก


ทนายประเสริฐ เหล่าทึมหลวง  0816160527
thailawyers@hotmail.com
ติดตามคำพิพากษาอื่นๆ ได้ที่
http://www.lawyer1.net